พัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี ฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพหมอดินอาสาประจำตำบล ปี 2558


           วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน 2557 สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การเพิ่มศักยภาพหมอดินอาสา ประจำตำบล ปีงบประมาณ 2558” เพื่อเป็นการเพิ่มเติมและทบทวนความรู้ นวัตกรรม เกี่ยวกับการใช้และการปรับใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาที่ดิน ที่เป็นพื้นฐานการผลิตและการพัฒนาที่สำคัญ การเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่สมาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน รวมทั้งการทบทวนความรู้ บทบาท/ภารกิจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งระหว่างหมอดินอาสาด้วยกันและเจ้าหน้าที่ของ สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเจ้าที่ในโครงการฯ ที่เข้าศึกษาดูงาน ไม่เว้นแม้แต่ขณะเดินทาง (บนรถขณะเคลื่อนที่) รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมสันทนาการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างหมอดินอาสาและเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี 74 หมู่ที่ 4 ต.ทับตีเหล็ก อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี และเดินทางไปศึกษาดูงาน นอกพื้นที่ คือ
          วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ณ ศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริในการพัฒนาและฟื้นฟู "ห้วยทราย" ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมที่ดิน กรมพัฒนาชุมชน กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมประมง กรมปศุสัตว์ ฯลฯ มีการดำเนินงานการฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยาทั้ง ระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศน์พื้นราบ และระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเล มีการทดลองศึกษาและวิจัย เพื่อให้ได้รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพต่างๆ โดยยึดหลักการที่ว่า ราษฎรอยู่รอดและธรรมชาติก็อยู่รอดด้วย กิจกรรมที่น่าสนใจของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ คือ งานพัฒนาป่าไม้ ปลูกป่า ๓ อย่าง ได้แก่ ไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ สร้างสมดุลทางธรรมชาติของป่าให้คืนสู่สภาพเดิม การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะเนื้อทราย แล้วปล่อยเข้าสู่ป่า เร่งสมดุลทางธรรมชาติ การปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกหญ้าแฝกรอบอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันสารพิษ
          จากนั้นได้เข้าศึกษาดูงาน ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ถนนเพชรเกษม อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี (ค่ายพระรามหก) เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ความรู้และการฝึกอบรมระดับสากล ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายครบวงจร สร้างสรรค์นวัตกรรมเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชมแปลงสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิแดงในพื้นที่ดินเค็ม การปลูกพืชผักบนดินเค็ม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้รับการอำนวยความสะดวกจาก ผอ.อนุชิต พรแดง สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี และเจ้าหน้าที่ในโครงการฯ ทั้ง 2 แห่ง
          วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ได้เข้าศึกษาดูงาน ที่ โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ ต.ไร่ใหม่พัฒนา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชดำริที่จะพระราชทานป่าไม้ให้กับปวงชนชาวไทย เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ได้ 50 ปี เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน เข้ามาร่วมดำเนินการ แต่ให้ระมัดระวัง อย่าให้มีผลกระทบกับปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้าน และให้มีการปลูกแฝกเสริมเข้าไปในพื้นที่โครงการปลูกป่า ทั้งเพื่อเป็นโครงสร้างสำคัญในการฟื้นฟูดินและการปลูกป่า รวมถึงการศึกษาข้อมูล เกี่ยวกับการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก อย่างจริงจังและหลากหลาย โดยพระราชทาน ชื่อว่า “โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง” โดยหมอดินอาสาและเจ้าหน้าที่ได้ร่วม “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี” โดย ผอ.พิสิษฐ์ บำรุงพงษ์ คุณจุฬาลัย ค้ำคูณ และเจ้าหน้าที่ โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ (หนองพลับ-กลัดหลวง) ได้กรุณาพาเยี่ยมชมโครงการ ให้ความรู้/คำแนะนำ อำนวยความสะดวกรวมทั้งด้านเตรียมสถานที่ กล้าไม้และหลุมปลูก
           แวะนมัสการ หลวงปู่ทวด ณ วัดห้วยมงคล เดิมใช้ชื่อว่า "วัดห้วยคต" ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านห้วยคต ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามใหม่จาก ห้วยคต เป็น ห้วยมงคล ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นทั้งชื่อหมู่บ้าน วัด โรงเรียน และโครงการต่างๆ อีกมากมาย กว่า 40 ปีแล้ว ที่หมู่บ้านห้วยมงคล เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาเยี่ยมประชาชน รวมทั้งประราชทานโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพสกนิกรได้มีฐานะดีขึ้น มีส่วนราชการให้การดูแล รวมทั้งทรงอุปถัมภ์วัดห้วยมงคล ไว้ให้เป็นที่พึ่งทางใจสำหรับชาวบ้าน โดยปัจจุบันมีพระครูปภัสสรวรพินิจ หรือพระอาจารย์ไพโรจน์ ปภัสสโร เป็นเจ้าอาวาส
           จากนั้นได้เข้าศึกษาดูงาน ที่ โครงการช่างหัวมันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขากระปุก ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เดิมข้าราชบริพารในพระองค์ได้มาซื้อที่ดินบริเวณนี้สำหรับอยู่อาศัย ปลูกพืชผล ต่อมาความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัย จึงได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรที่ดิน และได้ทรงซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวจำนวน 250 ไร่ สำหรับเพาะปลูกพืช ทำเป็นโครงการตามพระราชดำริ และได้มีมีชาวบ้านได้นำมันเทศที่ปลูกมาทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์แต่เมื่อเสด็จกลับมิได้ทรงนำมันหัวนั้นไปด้วย แต่เมื่อเสด็จกลับมาอีกครั้งทรงพบว่า มันหัวนั้นงอกเป็นต้น จึงมีพระราชดำรัสว่ามันอยู่ที่ไหนก็งอกได้ จึงมีพระราชดำริให้จัดเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชต่างๆ โดยเน้นที่พืชท้องถิ่นของเพชรบุรี เช่น มะพร้าว ชมพู่เพชร มะนาว กะเพรา สัปปะรด ข้าวไร่พันธุ์ต่างๆ มีการก่อสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การเลี้ยงสัตว์ การประมง ฯลฯ และทรงมีพระราชดำริให้ปลูกแปลงทดลองมันเทศในที่ดินส่วนนี้ด้วย เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานชื่อโครงการ พระองค์จึงตรัสว่าชื่อ "ชั่งหัวมัน" ก็แล้วกัน ชื่อ โครงการชั่งหัวมัน ถือได้ว่าเป็นชื่อโครงการที่แปลก ชวนให้คิดตีความว่าชื่อนี้มีความหมายอะไร ถ้าตีความหมายตามสำนวนไทย ชั่งหัวมัน (ช่างหัวมัน) ก็หมายถึง "ไม่ต้องไปสนใจ อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด ใครจะทำอะไรก็ทำไป เราไม่ต้องไปใส่ใจ" พระองค์ท่านเป็นนักปราชญ์ มีสายพระเนตรยาวไกลและความคิดที่ลึกซึ้ง ชั่งหัวมันจึงเป็นชื่อที่สื่ออะไรที่มีความหมายลึกซึ้ง มากยิ่งกว่าแค่เอาหัวมันมาชั่ง
          หมอดินอาสาและเจ้าหน้าที่ได้เที่ยวชมพื้นที่โดยรอบ ฟังการบรรยายสรุป เกี่ยวกับความเป็นมา/วัตถุประสงค์ของโครงการ การดำเนินการ ทั้งในอดีตและที่กำลังจะดำเนินการในอนาคตอันใกล้ แวะซื้อของฝาก ก่อนเดินทางกลับจังหวัดสุพรรณบุรี โดยสวัสดิภาพ